DPU Journey to Sustainability

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการบริหารจัดการด้านกายภาพ การออกแบบอาคารต่างๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย มากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่กว่า 80 ไร่ รวมทั้งการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับอาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในการเรียนการสอนของคณะ มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนให้ผลิตผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มีการจัดสรรงบประมาณด้านกายภาพแต่ละปีมากกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณ เพื่อทำการพัฒนาภูมิทัศน์ กายภาพและงานด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมีผลงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยชนะการประกวดที่จัดโดยหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จนได้รับรางวัลและเป็นที่ยอมรับด้านสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ และระดับสากลดังนี้

1. รับพระราชทานรางวัล “พฤกษานคราเหรียญเชิดชูเกียรติ” จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในฐานะผู้ชนะเลิศโครงการ "แมกไม้มิ่งเมือง ระดับหน้าบ้านหน้ามอง" ประเภท มหาวิทยาลัยในสวน

2. รับรางวัล “เหรียญทอง” ในฐานะที่เป็นผู้ผ่านการตรวจรับรองจาก กระทรวงสาธารณสุข ตามโครงการ “สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าเรียน” เป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาที่ครบทั้งความสะอาด ปลอดภัย ไร้มลพิษ มีชีวิตชีวา

3. รับโล่พระราชทาน “พลอยน้ำงาม” จากการชนะการประกวด โครงการเครือข่ายกรุงเทพฯ สีเขียว สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย โดยกรุงเทพมหานคร

4. ได้เข้าร่วมการประเมินมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ UI GREEN อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี ผลการประเมินในปี 2564 มหาวิทยาลัยยังคงได้รับการประเมินเป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชน จากการประเมิน ความเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโลก (Green University) ในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม 6 ด้าน การจัดการพื้นที่และโครงสร้าง พื้นฐานในมหาวิทยาลัย การจัดการพลังงาน การจัดการขยะ การจัดการน้ำ การขนส่ง และการเรียนการสอน การวิจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จัดโดย UI Green Metrix (เข้ารับการจัดอันดับตั้งแต่ปี 2558)

เป้าหมายการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน โดยการพัฒนาการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนั้น จะดำเนินการภายใต้กรอบ ESG Framework – Environment, Social และ Governance และจะสอดคล้องกับบริบทของการเป็น สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งจะครอบคลุมในการดำเนินงานทุกๆด้าน

เป้าหมาย

E - ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)

มหาวิทยาลัยจะดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อปกป้องและสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งมั่นที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยพัฒนา สร้างสมดุล และ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ความรู้ความสามารถผ่านงานวิจัย นวัตกรรม โครงการพัฒนา และ กิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งการให้ความรู้และสร้างประสบการณ์จริงด้านสิ่งแวดล้อม ให้แก่นักศึกษา บุคลลากร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้มีความตระหนักต่อการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายของการดำเนินงาน ภายในปีการศึกษา 2569
Environment Measures Team Lead Goal 2569
UI Green ranking SD Committee Top 1 Private U.
Carbon Emission (Scope1&2) SD Committee 5 years cumulative > 30%
ESG Report SD Committee Yearly

S - ด้านสังคม (Social)

มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาและดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม โดยร่วมสร้างสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ ปฏิบัติต่อบุคลากร นักศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นธรรม และไม่ละเลยประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง

เป้าหมายของการดำเนินงาน ภายในปีการศึกษา 2569
Social Measures Team Lead Goal 2569
Sustainability culture for DPU DPU Leadership team Project success > 80%
Student well-being (Safety, drugs, mental health) Student affairs/Dean Incident = 0

G - ด้านการกำกับกิจการที่ดี (Governance)

มหาวิทยาลัยจะพัฒนาองค์กรให้พร้อมด้วยบุคลาการที่มีความรู้ความสามารถ เป็นพลเมืองที่ดีของโลก (Good Citizen) มีการขับเคลื่อนองค์กรสู่องค์กรที่ดี มีความมั่นคง มีการเติบโตของรายได้ มีการพัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรมเพื่อให้แข่งขันได้ มีระบบกำกับดูแลที่โปร่งใสและมีการบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็ง

เป้าหมายของการดำเนินงาน ภายในปีการศึกษา 2569
Governance Measures Team Lead Goal 2569
Complaints / Misconduct DPU Leadership team Zero
Integrate governance system into business operations DPU Leadership team 100%
Good governance report SD Committee Yearly

เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (2015) – Sustainable Development Goals - SDGs มหาวิทยาลัยจึงกำหนดเป้าหมาย SDG จำนวน 4 ด้านที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้อง กับบริบทของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ได้แก่

SDGs Measures Team Lead Goal 2569
8 Decent work and Economic Growth SD Committee Achievement > 80%
11 Sustainable cities and communities
12 Responsible consumption and production
17 Partnerships for the Goals

คณะกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

อธิการบดี
ประธานกรรมการ

หน้าที่ความรับผิดชอบ

  1. ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development Goals – SDGs) ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) และกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตรงตามสมรรถนะหลัก และบริบทของมหาวิทยาลัย
  2. จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตัวชี้วัดความสำเร็จและ ค่าเป้าหมายให้สอดคล้องกับ SDGs โดยจำแนกเป็นการดำเนินงานที่สำคัญ 3 เรื่องได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) การพัฒนาสังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการ (Governance)
  3. พิจารณาแนวโน้ม โอกาสและความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน รวมทั้งระดับผลกระทบ และมาตรการจัดการความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัย
  4. ถ่ายทอดนโยบาย เป้าหมาย ตัวชี้วัดและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน สู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนํานโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและยั่งยืน
  5. สื่อสารและให้ความรู้ด้านการพัฒนาความยั่งยืนแก่คณาจารย์และบุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถนํานโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติในงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  6. จัดทำ Sustainability Website ของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเผยแพร่การดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้เป็นข้อมูลสาธารณะที่เข้าถึงได้ทั้งภายในและภายนอก
  7. สนับสนุนการดำเนินงานของกิจกรรมและโครงการที่สร้างบรรยากาศ ความมีส่วนร่วมของคณาจารย์และบุคลากร รวมทั้งการส่งเสริมและยกย่องชมเชยแนวปฏิบัติที่ดีภายในมหาวิทยาลัย
  8. ติดตามความก้าวหน้าของแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน พร้อมทั้งรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการบริหาร อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง และรายงานต่อสภามหาวิทยาลัย อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  9. จัดทํารายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามกรอบมาตรฐานสากล ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเผยแพร่ทาง Sustainability Website ของมหาวิทยาลัย
  10. จัดทำรายงาน Good Governance University Report ตามข้อกำหนดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีละ 1 ครั้ง
  11. ทบทวนและสอบทานนโยบาย เป้าหมาย กลยุทธ์ แผนพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
  12. มีอํานาจแต่งตั้งและมอบหมายงานให้คณะทำงานในชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
  13. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

คณะทำงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานและภูมิอากาศ

ดร.ณัฏฐพงศ์ จันทราทิพย์

รองอธิการบดีสายงานบริหารด้านกายภาพ

หน้าที่ความรับผิดชอบ

  1. ขับเคลื่อนนโยบาย “DPU Green” ในการจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานและภูมิอากาศ ให้บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผล
  2. ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดทำ Feasibility Study ของแผนการลงทุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานและภูมิอากาศ และงบประมาณที่เกี่ยวข้อง
  3. จัดทำมาตรการและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน
  4. สื่อสารและประชาสัมพันธ์ วิธีการและแนวทางในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดกิจกรรมและฝึกอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกและให้ความรู้แก่บุคลากรและนักศึกษา
  5. ประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจ เพื่อขอสนับสนุนความร่วมมือการพัฒนางานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานและภูมิอากาศ และร่วมสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
  6. ประเมินการใช้พลังงาน ตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงาน สัดส่วนการใช้พลังงานในระบบต่างๆ การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งการติดตามกิจกรรมเพื่อคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขต 1 และ 2) และรายงานความก้าวหน้า
  7. จัดทำรายงานการประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าร่วมประเมินกับหน่วยงานภายนอก เช่น UI Green University , SUSA
  8. จัดทำรายงานการจัดการพลังงานและรับรองรายงานตามขั้นตอนของระบบการจัดการพลังงาน ส่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ทุกปี พร้อมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ทาง พพ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คณะทำงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมการทำงาน

ดร.ณัฏฐพงศ์ จันทราทิพย์

รองอธิการบดีสายงานบริหารด้านหัวหน้าคณะทำงาน

ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ

  1. จัดทำคู่มือว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับบุคลากร นักศึกษา และผู้รับบริการ
  2. จัดทำมาตรการหรือแนวทางป้องกันและปรับปรุงแก้ไขสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานเพื่อความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากร นักศึกษา และบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานหรือเข้ามาใช้บริการมหาวิทยาลัย
  3. จัดทำแผนการฝึกอบรมและสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงานของมหาวิทยาลัย
  4. สำรวจการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยในการทำงานและรายงานผลการสำรวจดังกล่าว รวมทั้งสถิติการประสบอันตรายที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยนั้น ในการประชุมทุกครั้ง
  5. รายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยประจำปี รวมทั้งระบุปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

คณะทำงานด้านสังคมยั่งยืน

อ.พิไลพรรณ นวานุช

ผู้ช่วยอธิการบดี สายงานทรัพยากรบุคคล

ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบ

  1. ขับเคลื่อนนโยบาย “Value Co-creation” ในการร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาสังคม เพื่อให้มีความเข้มแข็งและความยั่งยืน ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผล
  2. สร้างความมีส่วนร่วมในดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสังคมยั่งยืน สร้างจิตสำนึกกับบุคลากรและนักศึกษาให้มีพฤติกรรมตามวิถีความยั่งยืน
  3. จัดทำมาตรการและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน
  4. ประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจ เพื่อขอสนับสนุนความร่วมมือการพัฒนาสังคม และร่วมสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
  5. บูรณาการความรู้ความเข้าใจแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนกับพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ในงานด้านการเรียนการสอน วิจัย และบริการวิชาการ
  6. พัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม งานสร้างสรรค์และงานวิจัยที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
  7. กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่สอดคล้องกับบริบทของมหาวิทยาลัย และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ และจัดทำรายงานผลการดำเนินงานแต่ละด้านของ SDGs เพื่อเผยแพร่ข้อมูลใน Sustainability Website ของมหาวิทยาลัย

Roles of Education in Sustainability

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษากับความยั่งยืน

สถาบันการศึกษามีความสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของประชาชนในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมจริยธรรม ค่านิยม ทัศนคติ ทักษะ และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งเราสามารถแบ่งบทบาทของมหาวิทยาลัยในด้านความยั่งยืนเป็น 5 บทบาทดังต่อไปนี้ :

การศึกษาและการวิจัย
(Education and Research)

มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ระดับสูงซึ่งนักศึกษาสามารถได้รับข้อมูลและพัฒนาทักษะ ความสามารถที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าของแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน แนวคิดเรื่องความยั่งยืนสามารถรวมไว้ในหลักสูตรการศึกษา และมหาวิทยาลัยสามารถส่งเสริมการริเริ่มการวิจัยที่มุ่งเน้นไปที่การจัดการปัญหาด้านความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้มีศักยภาพที่จะส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยี และการปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแพร่กระจายของข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปฎิบัติที่เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

ความร่วมมือและพันธมิตร
(Collaboration and Partnerships)

เพื่อการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป สถาบันการศึกษาอาจเลือกที่จะมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ในบริบทนี้ "ความร่วมมือ" อาจหมายถึงความร่วมมือกับบริษัทเอกชน หน่วยงานสาธารณะ กลุ่มที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ในการสร้างและดำเนินโครงการด้านความยั่งยืน

การดำเนินงานที่ยั่งยืนในวิทยาเขต
(Sustainable Campus Operation)

นอกจากจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสถาบันอื่น ๆ แล้ว มหาวิทยาลัยยังสามารถดำเนินการดังกล่าวได้โดยจัดให้มีการดำเนินงานที่ยั่งยืนในวิทยาเขตของตน ซึ่งอาจรวมถึงการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน โครงการที่ลดของเสีย และเพิ่มอัตราการรีไซเคิล และกิจกรรมที่ส่งเสริมการสัญจรอย่างยั่งยืน

การมีส่วนร่วมของประชาชน
(Public Engagement)

สถาบันการศึกษามีอิทธิพลในการมีส่วนร่วมของประชาชน และสร้างความตระหนักในประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม กิจกรรมประชาสัมพันธ์ โครงการบริการชุมชน และกิจกรรมสาธารณะที่มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนเป็นตัวอย่างบางส่วนของบทบาทนี้

การพัฒนานโยบาย
(Policy Development)

มหาวิทยาลัยมีศักยภาพที่จะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยต่างๆ มีศักยภาพในการให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์อย่างมากเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนานโยบาย และแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน เนื่องจากมีส่วนร่วมในการวิจัย และทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายอย่างจริงจัง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม อันเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้มีการกำหนดแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ระยะที่ 3 ฉบับ พ.ศ 2561 – 2580 อันเป็นแผนสำคัญที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ 2561 – 2580 โดยมียุทธศาสตร์การศึกษาที่สำคัญ เช่น การสร้างและพัฒนาคนให้เป็น Smart Citizen การยกเครื่องมหาวิทยาลัย (Reinvent) และการสนับสนุนการกำกับดูแลภายใต้การมี ธรรมาภิบาลที่ดี เป็นต้น และยังมีการกำหนดโครงการต่างๆที่ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเหล่านี้
สำหรับการเคลื่อนไหวของสถาบันอุดมศึกษาไทยนั้น มีการก่อตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ร่วมผลักดัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ1) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย 2) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ระหว่างสถาบัน และ 3) เพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคส่วนการศึกษาโดยเป็นต้นแบบให้กับภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย ในปี พ.ศ. 2562 มีการพัฒนาระบบการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษา (Sustainable University System Assessment of Thailand หรือ SUSA-Thailand ) เพื่อเป็นแนวทางให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยสามารถนำไปปฏิบัติก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน
สำหรับการประเมินความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาในระดับสากลนั้น ในปี 2562 The Times Higher Education (THE) เปิดตัวระบบจัดอันดับใหม่ชื่อ the Times Higher Education Impact Rankings (Impact Rankings) เพื่อจัดอันดับความสำเร็จของสถาบันอุดมศึกษาในการดำเนินตามเป้าหมายของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย

โดยใช้ตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบและให้ครอบคลุมทั้งหมด 4 ด้านได้แก่
Research: วัดว่าสถาบันอุดมศึกษาทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ด้านมากน้อยอย่างไร

Stewardship: วัดว่าสถาบันอุดมศึษาดูแลรับผิดชอบทรัพยากรของสถาบันอย่างไร ทั้ง อาคารสถานที่ อาจารย์ นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ

Outreach: วัดการทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับ ท้องถิ่น ภูมิภาค ชาติและนานาชาติ อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความยั่งยืน

Teaching: วัดการสอนมีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะและเชี่ยวชาญในส่งเสริมให้เป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายของสหประชาชาติประสบความสำเร็จ และเพื่อให้แน่ใจว่าบัณฑิตของสถาบันนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ในอาชีพการงานของตน

THE - The Impact Rankings จัดอันดับผลงานของมหาวิทยาลัยทั่วโลกใน 4 ด้านข้างต้นที่ส่งผลขับเคลื่อน ผลักดันให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ถือเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งในการวัดคุณภาพของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน