arrow-prev ย้อนกลับ
10 มิถุนายน 2565
โดย: กัลยา สว่างคง วชิรญา ตติยนันทกุล ปวรรัตน์ สุภิมารส

การจัดการการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี อย่างยั่งยืน: กระบวนการและความสำเร็จ ชุมชนบ้านเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กัลยา สว่างคง วชิรญา ตติยนันทกุล ปวรรัตน์ สุภิมารส

Received: 2022-03-15 Revised: 2022-06-08 Accepted: 2022-06-10

การจัดการการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี อย่างยั่งยืน: กระบวนการและความสำเร็จ ชุมชนบ้านเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการจัดการการท่องเที่ยว ชุมชน OTOP นวัตวิถีอย่างยั่งยืนของชุมชมบ้านเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ประชาชนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มี ส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง และแบบสังเกต โดยผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการถอดเทปการ สนทนาและการวิเคราะห์เนื้อหา รายงานผลด้วยวิธีการเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่ากระบวนการจัดการ การท่องเที่ยวชุมชนแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 1) ก่อนนักท่องเที่ยวเข้าชุมชน 2) เมื่อนักท่องเที่ยวอยู่ใน ชุมชน และ 3) หลังจากนักท่องเที่ยวออกจากชุมชน โดยในทุกช่วงจะเน้นการรักษาวิถีชีวิตของชุมชน ควบคู่ไปกับการให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อย่างปลอดภัยเป็นมิตรและสะดวกสบาย สำหรับปัจจัย ความสำเร็จของการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ 1) กรรมการ 2) กฎเกณฑ์ 3) กิจกรรม และ 4) การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภายนอก

คำสำคัญ (Keywordร) การท่องเที่ยวชุมชน; การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน; การจัดการ; โอทอปนวัตวิถี

บทนำ (Introduction)

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจโลกกว่า 9.2 ล้านล้าน เหรียญสหรัฐ และก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 334 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลก หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 10.6 ของตำแหน่งงานทั้งหมด (World Tourism and Travel Council (WTTC), 2021) สำหรับประเทศ ไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ร้ายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 17 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวและ สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นการ พัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยว การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งโดยให้ความสำคัญกับการกระจาย รายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเสมอภาค เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อม ล้ำและส่งเสริมการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน รวมทั้งส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ ทรงคุณค่าพร้อมไปกับการเรียนรู้เสน่ห์วิถีไทยเฉพาะถิ่นเพื่อประสบการณ์ใหม่ ๆ ทางการท่องเที่ยว (การ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2562)

จากแนวทางการพัฒนาดังกล่าวทำให้การท่องเที่ยวชุมชนกลายเป็นรูปแบบสำคัญของการพัฒนา ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย เพราะการท่องเที่ยวชุมชนเป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวที่ เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการด้วยตนเองในทุกขั้นตอนของการ ดำเนินงาน ตั้งแต่เริ่มต้นกำหนดความคิด ทิศทางการทำงานไปจนถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ (Pasanchay K. and Schott C., 2021 โดยการนำเอาทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนที่มีความ โดดเด่น มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างมาพัฒนาเป็นสินค้า บริการ และกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างชุมชนเจ้า บ้านและผู้มาเยือน (ปุณยวีร์ วิเศษสุนทรสกุล และคณะ, 2563) เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมให้ เกิดการสร้างความสามัคคีที่เข้มแข็งภายในชุมชน และเกิดความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม (สันติ สิงหาพรม และอุมาวรรณ วาทกิจ, 2562) ทั้งนี้ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุน ให้เกิดโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอทอป (OTOP) นวัตวิถีขึ้นในปี 2561 เพื่อสร้างความเท่าเทียมและลด ความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้เกิดรายได้ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและเกิดความยั่งยืนได้ในที่สุด (กรมการพัฒนาชุมชน, 2561) โดยโครงการชุมชนท่องเที่ยว โอทอป (OTOP) นวัตวิถี กระจายครอบคลุม 3,273 ชุมชน ทั่วทุก พื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด 875 อำเภอ 2,644 ตำบล (สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, 2561)

จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องและประสบการณ์การวิจัยร่วมกับชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัต วิถีในหลายพื้นที่ ผู้วิจัยพบว่าการดำเนินกิจกรรมในโครงการฯ นั้นมีจำนวนมากถึง 18 กิจกรรมที่ต้องจัดใน เวลาเดียวกัน และแต่ละกิจกรรมยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนและมีขั้นตอนในการดำเนินงานที่ต้องอาศัย ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกชุมชนเป็นจำนวนมาก (กรมการพัฒนาชุมชน, 2561) ทำ ให้เกิดปัญหาชุมชนขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงในการดำเนินงานและการขาดกระบวนการในการจัดการที่ เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ส่งผลให้การจัดการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีส่วนใหญ่เป็นไป อย่างไม่มีระบบ ขาดความเข้มแข็ง และไม่สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน (วชิรญา ตติยนันทกุล, 2562) อย่างไรก็ดียังมีชุมชนที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวจนได้รับ คัดเลือกให้เป็น "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ต้นแบบ" ของประเทศไทยทั้งสิ้น 50 ชุมชน กระจายอยู่ ในภูมิภาคต่างๆ (กรมการพัฒนาชุมชน, 2561) โดยกระบวนการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีที่ประสบความสำเร็จส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีผลการดำเนินงานที่น่าพึงพอใจ สร้างคุณค่าและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนท้องถิ่น รวมทั้งยังทำให้สินค้าภูมิปัญญาชุมชนได้รับการพัฒนา ต่อยอดอีกด้วย (ธณัฐ วรวัตน์ สัญญา เคณาภูมิ และเสาวลักษณ์ โกศลกิตติอัมพร, 2562)

จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษากระบวนของการจัดการการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี อย่างยั่งยืน โดยเลือกศึกษาในพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ชุมชนท่องเที่ยว O T OP นวัตวิถีที่ได้รับการคัดเลือกที่ได้รับรางวัลชุมชน ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีภาคกลางประจำปี 2561 เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จของการจัดการการ ท่องเที่ยวชุมชนและใช้เป็นแนวทางในการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนให้กับพื้นที่อื่นที่ยังประสบปัญหาใน การจัดการท่องเที่ยวให้เกิดความเข้มแข็งและนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Research Objective)

เพื่อศึกษากระบวนการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนของชุมชนบ้านเกาะเกิด อำเภอบาง ปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วิธีดำเนินการวิจัย (Research Methods)

1. รูปแบบการวิจัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยวิธีวิทยาแบบปรากฎการณ์

2. พื้นที่ในการวิจัย พื้นที่ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือ ชุมชนบ้านเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีที่ได้รับการคัดเลือกที่ได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีภาคกลางประจำปี 2561

3. ผู้ให้ข้อมูลหลัก ผู้วิจัยคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักที่มีคุณลักษณะความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัย โดย เป็นการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive samping) ทั้งนี้ผู้วิจัยมีเกณฑ์ในการเลือกผู้ให้ข้อมูล หลัก ดังนี้ 1) มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชน OTOP นวัตวิถี 2) สามารถ ให้ข้อมูลได้ตรงประเด็นและน่าเชื่อถือ และ 3) ยินดีให้ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Inteniew) ทั้งนี้เมื่อข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ถึงจุดอิ่มตัว (Theoretical Saturation) คือคำตอบที่ได้ ซ้ำกันและไม่มีประเด็นใหม่เพิ่มเติม ผู้วิจัยจึงหยุดการเก็บข้อมูล โดยงานวิจัยนี้มีผู้ให้ข้อมูลหลักทั้งสิ้น 10 คน ประกอบไปด้วย ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ประชาชนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มี ส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนชั่นวาคม 2564

4. เครื่องมือการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกได้เป็น 4 อย่าง คือ 1 ตัวผู้วิจัย ที่จัดเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการวิจัยเนื่องจากผู้วิจัยต้องมีความไวต่อทฤษฎี (Theoretical Sensitivity) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียด และครบถ้วน ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องเตรียมในส่วนของความรู้ด้วยการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ก่อนเริ่มเก็บข้อมูล 2) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi Structured Interview) โดยกำหนดแนว คำถามเพื่อให้เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ 3) แบบสังเกต (Observation Form) เพื่อใช้สำหรับการสังเกต องค์ประกอบหลักในการดำเนินงานทางการท่องเที่ยวของชุมชน และ 4) อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่อง บันทึกเสียง กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหว ปากกา ดินสอ และสมุดจดบันทึก เป็นต้น

5. การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยได้เลือกใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่หลากหลาย คือ การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-participate observation) และการศึกษาวิเคราะห์ เอกสาร (Content analysis) ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีความหลากหลาย ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ด้านวิธีการ (Methodological triangular) (สุภางค์ จันทวานิช, 2556)

6. การวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ด้วยการ ถอดเทปการสนทนาแบบคำต่อคำ (Verbatim) ฟังซ้ำแล้วเรียบเรียงข้อมูลที่ได้เพื่อนำมาแยกและจัดกลุ่ม ข้อมูลที่มีลักษณะใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ข้อมูล และรายงาน ผลการวิจัยด้วยวิธีการเชิงพรรณนา

ผลการวิจัย (Research Results)

1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ให้ข้อมูลหลักผู้ให้ข้อมูลหลักในงานวิจัยนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน โดยผู้ให้ข้อมูลหลักแต่ละกลุ่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชน ดังนี้

1.1 ผู้นำและกรรมการชุมชนเป็นกลุ่มคนที่มีหน้าที่หลักในการจัดการและพัฒนาสินค้า บริการ และกิจกรรมการท่องเที่ยวร่วมกับคนในชุมชน จัดและดูแลการประชาสัมพันธ์ชุมชน จัดสรรงบประมาณแบ่งปันรายได้อย่างเป็นธรรม สำรวจความต้องการของคนในชุมชน ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อขอรับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ

1.2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเป็นกลุ่มคนที่ติดต่อกับชุมชนเพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้ามาทำ กิจกรรมการท่องเที่ยว มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการ ท่องเที่ยว รวมทั้งถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำงานให้กับคนในชุมชน

1.3 ประชาชนในชุมชนเป็นกลุ่มคนที่มีหน้าที่หลักในการให้บริการกับนักท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ เช่น ผลิตและขายสินค้าชุมชน ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นวิทยากร ให้ความร่วมมือกับกรรมการ ในการบริหารจัดการ อนุรักษ์และพัฒนาชุมชน

1.4 เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นกลุ่มคนที่ทำงานในองค์กรต่าง ๆ ของภาครัฐที่มีความ เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ จัดสรรงบประมาณ หาแนวทางพัฒนาศักยภาพของขุมชน และมีส่วน สำคัญในการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

2. ข้อมูลทั่วไปของชุมชนบ้านเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุมชนบ้านเกาะเกิด มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 8,141.25 ไร่ ประกอบไปด้วยหมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน มี จำนวนครั่วเรือนทั้งสิ้น 685 ครัวเรือน และมีประชากรทั้งหมด 2,133 คน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านในทุกหมู่บ้านของตำบลเกาะเกิด และเป็นที่รู้จักของ ผู้คนโดยทั่วไปในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยังคงดำรงวิถีชีวิตของคนที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยาได้เป็น อย่างดี (องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกิด, 2561)

การท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะเกิด ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2537 โดยนางลำพูน พรรณไวย ผู้นำชุมชน หมู่ 5 ที่ได้นำเอาองค์ความรู้ภูมิปัญญาชุมชนเรื่องการทำยาสมุนไพรอายุวัฒนะเพื่อการรักษาสุขภาพมา ถ่ายทอด โดยหลังจากที่ใช้เองแล้วอาการเจ็บป่วยของโรคก็ดีขึ้นเป็นลำดับ นางลำพูนจึงได้ทำยาสมุนไพร แจกจ่ายให้กับคนในชุมชนและขายแก่ผู้ที่สนใจในราคาย่อมเยา ต่อมาธนาคารออมสินร่วมกับรายการ โมเดิร์นไนน์ทีวีได้เข้ามาถ่ายทำสารคดี จึงทำให้คนทั่วไปเดินทางเข้ามาที่ชุมชนเพื่อซื้อและเรียนรู้การทำยา สมุนไพรกันมากขึ้น นำไปสู่การเปิดบ้านเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวและการ เรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนเพื่อวางแผนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว จนในปี 2548 ได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนหมู่บ้านโอทอปเกาะเกิดขึ้น

ปี 2551 นายสุทิน อุ้มญาติ ประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะเกิด ได้นำองค์ความรู้เชิงวิชาการและ เทคโนโลยีเข้ามาร่วมจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยปัจจุบันชุมชนบ้านเกาะเกิด จัดกิจกรรมท่องเที่ยวรอบพื้นที่เกาะเกิดทั้งสิ้น 9 จุดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้สมุนไพร อายุวัฒนะ 2) น้ำกลั่นสมุนไพรไล่แมลง 3) ไม้ยืนเพื่อสุขภาพ 4) ขนมไทยโบราณ 5) ขนมข้าวยาคู 6) หมี่ กรอบโบราณ 7) โรงเห็ด 8 จุดการเรียนรู้การทำไร่นาสวนผสม และ 9) กิจกรรมไหว้พระสมัยกรุงศรีฯ ซึ่ง จุดการเรียนรู้ทั้งหมดนี้เกิดจากการคันหาและรวบรวมภูมิปัญญาชุมชนที่กระจัดกระจายและนำมาบริหาร จัดการเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยองค์ความรู้ของชุมชนบ้านเกาะเกิดนั้นสามารถ แบ่งเป็น 3 ด้านตามลักษณะของการนำไปใช้ คือ ด้านที่ 1 ชุดองค์ความรู้ด้านสุขภาพ เช่น การทำไม้ยืน เพื่อสุขภาพ การทำน้ำกลั่นสมุนไพร่ไล่แมลง ด้านที่ 2 ชุดความรู้ด้านการทำอาหารและขนมไทย เช่น การทำขนมหม้อแกงและหมี่กรอบโบราณ ขนมข้าวยาคู ขนมสามเกลอ ถั่วดาวอินคา และด้านที่ 3 ชุดความรู้ ด้านการเกษตร เช่น การเพาะเห็ดยานางิ การปลูกผักอินทรีย์ และการปลูกพืชแบบผสมผสาน

การสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการบริหาร จัดการที่ดีของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนบ้านเกาะเกิดมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยม ชมชุมชนแห่งนี้เพิ่มขึ้นตามลำดับ และส่งผลให้ชุมชนได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีต้นแบบ ประจำปี พ.ศ. 2561

"เราเริ่มต้นจากการนำความรู้ของผู้นำชุมชนของเรา คือ เรื่องสมุนไพรมาถ่ายทอดให้คนทั่วไป รู้จัก เนื่องจากเป็นความรู้ของเราเองก็เลยไม่ได้มีการลงทุนอะไรมากนัก ราคาก็ไม่แพง ผู้คนสนใจเข้ามาหา ความรู้ เราก็ถ่ายทอดความรู้ให้ แล้วก็ขายสินค้าก็คือ "ยา" ของเราได้ด้วย แต่บางคนเขามาไกลเขาก็ อยากพักค้างกับเราเพราะจะได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ ในชุมชนเราด้วย" (ก นามสมมติ, 2564)

3. กระบวนการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชน

3.1 ก่อนนักท่องเที่ยวเข้าชุมชนการท่องเที่ยวชุมชนในบ้านเกาะเกิดนั้นเป็นลักษณะการ ท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่และภูมิปัญญาของคนในชุมชน โดยจุดเด่นของชุมชนนี้ คือ ธรรมชาติและอัธยาศัยของคนในชุมชนทำให้สามารถจัดการท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี จากการสัมภาษณ์ พบว่าชุมชนมีการเลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยคณะกรรมการ ทั้งหมดเป็นคนในชุมชน ทุกคนไม่มีรายได้จากการเป็นกรรมการและมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันว่า ต้องการให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนภายใต้ แนวคิดว่า การท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริมเท่นั้นเพื่อป้องกันการแข่งขันกันเองของคนในชุมชน สำหรับ กิจกรรมทางการท่องเที่ยว และเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนนั้นเกิดมาจากการระดมความคิดกันของคนใน ชุมชนโดยมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำ

"ทีมงานของเราเป็นคนในชุมชนทั้งสิ้น เราไม่มีคนนอก เราไม่มีคนมีตำแหน่งเข้ามาร่วมบริหาร เรียกได้ว่าเราใช้ชุมชนนำชุมชนอย่างแท้จริง" (ก นามสมมติ, 2564)

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนชุมชนแห่งนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ 1) กลุ่มที่เป็น หมู่คณะ และ 2) กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่เป็นหมู่คณะ ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเอง และ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว ทั้งนี้ ทางชุมชนได้ตกลงร่วมกันในการรับ นักท่องเที่ยวว่าจะรับครั้งละหนึ่งกรุ๊ปเท่านั้นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้ นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ปลอดภัย เป็นมิตรและสะดวกสบายที่สุด โดยระบบในการรับ นักท่องเที่ยวนั้น ทางชุมชนจะจัดให้กรรมการชุมชนเพียง 3 ท่านเท่านั้นที่เป็นผู้ประสานงานหลักในการให้ ข้อมูล โดยกรรมการทั้ง 3 ท่านประกอบไปด้วย ประธานชุมชน เลขาชุมชน และผู้ก่อตั้ง ทั้งนี้นักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่สอบถามเรื่องกิจกรรมการท่องเที่ยว และที่พัก ซึ่งกรรมการต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลว่าฐานกิจกรรมใด ที่สามารถทำได้ในช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม เนื่องจากจำนวนฐานกิจกรรมมีค่อนข้างมากหาก นักท่องเที่ยวมีเวลาไม่มากนัก กรรมการจะเป็นผู้แนะนำฐานกิจกรรมที่เหมาะสม ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญ ในการเลือกฐานกิจกรรมที่เหมาะสมได้แก่ ความสนใจ เวลา งบประมาณ และจำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อ นักท่องเที่ยวต้องการจองบริการต่าง ๆ ทางกรรมการที่รับเรื่องจะส่งเรื่องให้กับเลขาชุมชนเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับนักท่องเที่ยวรายนั้นเพียงคนเดียว เพื่อป้องกันความสับสนและการรับจองซ้ำซ้อน ทั้งนี้การติดต่อประสานงานจะทำผ่านโทรศัพท์มือถือของกรรมการเท่านั้น

"ชุมชนเรามีนักท่องเที่ยวทุกแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นกรุ๊ปศึกษาดูงานที่เคยได้ยินเรื่องราวของเรา ก็ อยากมาเรียนรู้ มาดูให้เห็นของจริงแล้วนำกลับไปทำทีชุมชนเขา พวกนี้ก็มักจะพักค้างคืน ส่วน นักท่องเที่ยวทั่วไปก็มีทั้งคนไทย ทั้งคนต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยที่เห็นกิจกรรมในชุมชนของเรา ผ่านสื่อต่าง ๆ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะมากับบริษัทนำเที่ยว" (ข นามสมมติ, 2564)

"การให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวนั้นเราจะให้เบอร์โทรศัพท์กรรมการชุมชน 3 คนเท่านั้น แต่เมื่อ นักท่องเที่ยวจะจอง เราจะให้ติดต่อเลขากลุ่มคนเดียว เพราะเคยเจอปัญหารับกรุ๊ปซ้อนกันมาแล้ว ส่วน การให้ข้อมูลผ่านทางเพจชุมชนนั้นเราไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ ถนัดคุยทางโทรศัพท์มากกว่า" (ค นามสมมติ, 2564)

3.2 เมื่อนักท่องเที่ยวอยู่ในชุมชน เนื่องจากถนนในชุมชนค่อนข้างแคบ ดังนั้นชุมชนจะแนะนำให้ นักท่องเที่ยวแบบหมู่คณะจอดรถบัสที่วัดเชิงท่า และทางชุมชนจะใช้รถรางในการรับส่งนักท่องเที่ยว แต่ นักท่องเที่ยวแบบไม่เป็นหมู่คณะสามารถชับรถมาจอดในชุมชนได้ กิจกรรมแรกเมื่อเข้าถึงชุมชนคือการฟัง บรรยายเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมา ความน่าสนในของชุมชนโดยประธาน เลขา หรือกรรมการตามที่ได้ กำหนดไว้ หลังจากนั้นจึงเริ่มทำกิจกรรมตามที่นักท่องเที่ยวจองมาโดยวิทยากรประจำฐานคือคนในชุมชน ทั้งสิ้น ทั้งนี้รูปแบบของกิจกรรมแต่ละฐานสามารถปรับเปลี่ยนตามลักษณะของนักท่องเที่ยวแต่อยู่บนฐาน คิดที่ต้องรักษาวิถีชีวิตของชุมชนเอาไว้ และให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อย่างปลอดภัย เป็นมิตร และ สะดวกสบาย ในกรณีที่นักท่องเที่ยวมีจำนวนมากเกินกว่าแต่ละฐานกิจกรรมจะรับได้ในครั้งเดียว ทาง ชุมชนก็จะจัดให้มีการแบ่งนักท่องเที่ยวออกเป็นกลุ่มในจำนวนใกล้เคียงกันเพื่อแยกเข้าทีละฐานและหมุน ฐานกิจกรรมไปเรื่อย ๆ โดยกำหนดเวลาแต่ละฐานให้เท่ากัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียม สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่ไม่สะดวกเดินเท้าจากฐานหนึ่งไปยังฐานหนึ่ง ทางชุมชนก็ใช้วิธีย้ายฐาน กิจกรรมจากที่เดิมมาจัดยังที่ใหม่ที่อยู่ใกล้กันเพื่อให้นักท่องเที่ยวไม่เสียเวลาในการย้ายฐานมากนัก และยัง เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่สูงอายุอีกด้วย สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทางชุมชน สามารถรองรับได้โดยไม่เกินขีดความสามารถของชุมชนคือ 120 คนต่อวัน แต่หากนักท่องเที่ยวต้องการ พักค้างแรมทางชุมชนจะสามารถรองรับได้สูงสุด 80 คนต่อคืนเท่านั้น

"นักท่องเที่ยวของเรามีหลายกลุ่มมาก เราก็พยายามปรับรูปแบบการทำกิจกรรมให้รองรับคนทุก กลุ่มได้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ นักเรียน กลุ่มครอบครัว หรือชาวต่างชาติ แต่เราจะไม่ทิ้งวิถีชีวิตของเรา คือ ปรับแต่ไม่เปลี่ยน" (ค นามสมมติ, 2564)

เนื่องจากจุดเด่นของชุมชนนี้คือการเป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้นักท่องเที่ยวที่พักค้าง แรมต้องการโฮมสเตย์ที่อยู่ติดริมน้ำซึ่งทั้งชุมชนจะมีเพียง 2 หลังเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะรองรับความ ต้องการของนักท่องเที่ยว อีกทั้งการจัดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักในโฮมสเตย์ที่ติดริมน้ำเท่านั้นยังไม่สอดคล้อง กับแนวคิดการกระจายรายได้ในชุมชน ดังนั้นกรรมการจึงต้องกระจายนักท่องเที่ยวออกไปยังโฮมสเตย์ หลังอื่น โดยใช้วิธีการอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจถึงลักษณะของที่พัก ความสำคัญของการกระจายการ เข้าพัก และนำนักท่องเที่ยวไปดูที่พักจริง ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เมื่อได้รับฟังข้อมูลจากการอธิบายแล้วก็เข้าใจและยินดีปฏิบัติตาม ทั้งนี้คณะกรรมการจะคอยดูแลนักท่องเที่ยวตลอดเวลาที่พักอยู่ใน ชุมชนเพื่อให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวพักอย่างปลอดภัย มีความสบายใจ และได้รับการบริการที่ดี

"เราลองทำมาหมดแล้วทุกรูปแบบ ทั้งจัดคิวการเข้าพัก การวนการเข้าพักให้ทั่วถึง แต่ นักท่องเที่ยวก็อยากพักติดริมแม่น้ำ ซึ่งถ้าเราไม่กระจาย โฮมสเตย์หลังอื่นก็จะไม่ได้เข้าร่วมเลย ไม่มีการ กระจายรายได้เลยซึ่งมันไม่ถูกต้อง เราก็ต้องอธิบายนักท่องเที่ยวให้เข้าใจ ต้องพาเขาไปดูที่พัก ให้เขาให้คุย กับเจ้าของบ้าน เรียกว่าทำทุกอย่างให้เขาสบายใจที่สุด " (ก นามสมมติ, 2564)

3.3 หลังจากนักท่องเที่ยวออกจากชุมชน คณะกรรมการชุมชนทำการเก็บข้อมูลต่างๆ ของ นักท่องเที่ยว เช่น จำนวน รูปแบบและช่วงเวลาในการเยี่ยมชม กิจกรรมที่เลือกทำ ค่าใช้จ่าย ชื่อหน่วยงาน ฯลฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนต่อไป นอกจากนี้คณะกรรมการชุมชน จะประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกครั้งเพื่อสรุปงาน รับทราบปัญหาและหาทางป้องกันแก้ไข ร่วมกันคิด ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า ชี้แจงค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมทั้งแบ่งรายได้ให้กับผู้ที่มี ส่วนเกี่ยวข้องทุกคน โดยมีการเก็บหลักฐานต่างๆ เอาไว้สำหรับการตรวจสอบย้อนหลัง วิธีนี้ทำให้ผู้ที่มีส่วน เกี่ยวข้องทุกคนรับทราบถึงการดำเนินงานและมีส่วนร่วมในการพัฒนางานต่อไป

"เรามีการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวไว้ตลอด เพื่อดูว่านักท่องเที่ยวของเราส่วนใหญ่เป็นใคร มาจาก หน่วยงานไหน มาช่วงเวลาไหน ต้องการอะไรเป็นพิเศษบ้างหรือไม่ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่า เราควรต้องเตรียมอะไรไว้รองรับนักท่องเที่ยวบ้าง" (ก นามสมมติ, 2564)

"พอกรุ๊ปออกคณะกรรมการก็จะเรียกประชุม เคลียร์งานให้ทุกคนฟัง ทั้งปัญหาที่เจอ ค่าใช้จ่าย คือเล่าให้ฟังทุกเรื่อง แล้วสุดท้ายก็แบ่งรายได้กัน การประชุมทำให้เราเข้าใจตรงกัน มีปัญหาก็คุยกันได้ ทันที ไม่ต้องเก็บไว้ ทำให้เราทำงานร่วมกันมาได้นาน" (ง นามสมมติ, 2564)

"การจัดการจะยั่งยืนได้สิ่งสำคัญที่สุดคือความโปร่งสทางการเงิน" (จ นามสมมติ, 2564)

4. การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภายนอก หนึ่งในปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนคือการมีส่วนร่วมของ หน่วยงานภายนอก โดยในช่วงต้นเริ่มต้นทำการท่องเที่ยวภายในชุมชนบ้านเกาะเกิดนั้น ทางชุมชนต้อง อาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ในเรื่องของ งบประมาณ องค์ความรู้ การประชาสัมพันธ์ การค้นหาและสร้างสินค้ารวมทั้งการบริการทางการท่องเที่ยว ที่เหมาะสม การสร้างร้ายได้ภายในชุมชน ทั้งนี้สิ่งที่ชุมชนต้องการจากหน่วยงานภายนอกมากที่สุด คือ องค์ความรู้ ที่จะช่วยพัฒนาระบบการบริหารจัดการและความสามารถของคนในชุมชน เพื่อให้นำองค์ ความรู้นั้นๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

"เราอยากได้องค์ความรู้มากกว่าสินทรัพย์เพราะสินทรัพย์มีปัญหาเรื่องการดูแล การซ่อมแซม ถ้า หน่วยงานไหนจะเข้ามาอยากได้เป็นองค์ความรู้ หรือช่วยหาลูกค้ามาให้เรา หรือสอนเราว่าจะดูแลอำนวย ความสะดวกให้ลูกค้าอย่างไรจะดีกว่า อย่าเอาสินทรัพย์มาให้เราเลย" (ก นามสมมติ, 2564)

"เราเชื่อว่าการพัฒนาชุมชนต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หน่วยงานที่เข้ามาก็ จะมาช่วยเติมเต็มในสิ่งเหล่านี้ได้" (ค นามสมมติ, 2564)

จากการสัมภาษณ์พบว่าหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่มีบทบาทอย่างมากในเรื่องการประชาสัมพันธ์ การอบรมให้ความรู้คนในชุมชน การนำคนในชุมชนไปศึกษานอกสถานที่ การเป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนบ้านเกาะเกิดกับชุมชนอื่นเพื่อสร้างเส้นทางนำเที่ยวใหม่ๆ ที่น่าสนใจ การนำ ข้อมูลที่ได้จากชุมชนมาเขียนแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชน

"คนทำงานท่องเที่ยวในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่ไม่ทันเทคโนโลยี หน่วยงานก็จะออกแบบ สื่อต่างๆ หาช่องทางและงบประมาณในการเผยแพร่ รวมทั้งพาไปออกร้านในงานต่างๆ ระดับประเทศทำ ให้ชื่อเกาะเกิดเป็นที่รู้จักของผู้คน" (ง นามสมมติ, 2564)

"หน้าที่หลักอีกอย่างคือ การเขียนแผนฯ เพื่อช่วยหางบมาพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน เพราะถ้าสิ่งที่ชุมชนขอมาไม่ได้มีในแผนฯ ก็จะของบไม่ได้ (ญ นามสมมติ, 2564)

สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนนั้นจะมีบทบาทอย่างมากในการนำประสบการณ์มาต่อยอดองค์ ความรู้ที่ชุมชนมีเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานจริง เพราะชุมชนยังไม่มีประสบการณ์ในการให้บริการ ไม่ทราบ ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทั้งเรื่องของการคิดราคาขาย การสื่อสารกับนักท่องเที่ยว การให้บริการ ที่สำคัญ ชุมชนยังไม่ทราบว่าสินค้าที่ชุมชนมีนั้นจะขายอย่างไร และขายให้กับใคร ผ่านช่องทางใด ดังนั้นการมีผู้มี ประสบการณ์มาคอยช่วยเหลือจึงทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

"องค์ความรู้อย่างเดียวมักไม่ค่อยได้ผล หากขาดผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ตรงเข้าไปร่วม ทำงานด้วย และควรเป็นการร่วมทำงานตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจและ พัฒนางานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ" (ช นามสมมติ, 2564)

ในส่วนของสถาบันการศึกษานั้นมีบทบาทในการรวบรวมสินค้าและการบริการที่มีในชุมชนให้เป็น ระบบ คิดค้นรูปแบบ กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และการบริการทางการท่องเที่ยวที่เหมาะสม ถ่ายทอดองค์ ความรู้และสร้างนวัตกรรมในด้านต่างๆ ให้กับชุมชน รวมทั้งยังนำนักศึกษามาเรียนรู้กับชุมชนทำให้เกิด การต่อยอดเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ชุมชนมองเห็นความสำคัญในสิ่งที่ชุมชนมี และโอกาสในการนำสิ่งที่ มีไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวได้

"มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่เข้ามาศึกษากระบวนการจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนของเรา พอศึกษาแล้วก็ออกแบบ ปรับปรุงทั้งรูปแบบการทำงาน ผลิตภัณฑ์และการบริการให้ นอกจากนี้ยัง นักศึกษาเข้ามาในชุมชนด้วย ทำให้ชุมชนได้รับความรู้และมีกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น " (ข นามสมมติ, 2564)

ทั้งนี้หน่วยงานภายนอกที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชนเห็นตรงกันว่า การจัดการการ ท่องเที่ยวชุมชนบ้านเกาะเกิดมีความเข้มแข็งและมีความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะผู้นำชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการ คนในชุมชนมีความสามัคคีสูง และมีกิจกรรมการ ท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมให้กับชุมชน คือองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และการ ประชาสัมพันธ์เพื่อสามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

"เห็นการเติบโตของชุมชนนี้มาเป็น 10 ปี ต้องยอมรับว่าชุมชนเขาเข้มแข็งมาก ทำให้มั่นใจว่าเขา สามารถบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนในทุกด้านได้" (ฉ นามสมมติ, 2564)

5.ปัญหาในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนจากการสัมภาษณ์ร่วมกับการสังเกตผู้วิจัยพบปัญหาในการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนใน 2 ประเด็น คือ 1) การขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานของโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับ และพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและครบวงจร และ 2) การขาดความรู้เรื่องการทำสื่อและช่องทาง ประชาสัมพันธ์ ทำให้การประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่เกิดจากหน่วยงานภายนอกเป็นผู้จัดการให้

"ชาวบ้านก็ไม่มีความรู้เรื่องทำโฮมสเตย์หรอก เราก็แค่คิดว่าทำบ้านเราให้สะอาด ให้ปลอดภัย ให้ อยู่ได้อย่างสะดวกสบายก็น่าจะพอแล้ว เรื่องมาตรฐานโฮมสเตย์เป็นเรื่องที่เรายังต้องเรียนรู้กันต่อไป " (ง นามสมมติ, 2564)

"รุ่นเราทำเรื่องแบบนี้กันไม่ค่อยเป็นหรอก ใช้แคโทรศัพท์เท่านั้น มีเพจก็เปิดกันไม่เป็น ตอนนี้ ลูกหลานเข้ามาช่วยกันบ้างแล้ว แต่เขาก็ทำได้เฉพาะตอนที่เขาว่างเท่านั้น " (ก นามสมมติ, 2564)

6. ปัจจัยความสำเร็จของการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ปัจจัยความสำเร็จของการจัดการการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี อย่างยั่งยืนของชุมชนบ้านเกาะเกิด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถแยกออกได้เป็น 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้

6.1 กรรมการเนื่องจากผู้นำชุมชนและกรรมการบริหารการท่องเที่ยวเป็นคนในชุมชนทั้งหมด ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจบริบทของพื้นที่และองค์ความรู้ที่จะนำมาจัดกิจกรรม อีกทั้งยังสามารถสื่อสาร กันได้ตลอดเวลา และที่สำคัญกรรมการทุกคนมีความรักและภาคภูมิใจในชุมชน ไม่คิดแสวงหาประโยชน์ ส่วนตัว ทำให้การบริหารจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนเป็นไปได้อย่างราบรื่น

6.2 กฎเกณฑ์คณะกรรมการมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม เป็น ระบบ มีความโป่ร่งใส สามารตตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน มีการแบ่งงานกันทำ และมีการกระจายรายได้ที่ เป็นธรรม ทำให้คนในชุมชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมมีความสุขในการทำงานร่วมกัน

6.3 กิจกรรมกิจกรรมต่างๆ ล้วนมาจากภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัตถุดิบที่สามารถหาได้ในชุมชน ถึงแม้บางกิจกรรมจะต้องมีการปรับเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมนั้นๆ ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนใน ชุมชนต้องเรียนรู้ใหม่ ส่งผลให้เกิดความมั่นใจ สบายใจ ภูมิใจ และมีความเป็นกันเองในการทำกิจกรรม ทำ ให้นักท่องเที่ยวประทับใจกับอัธยาศัยอันดีและอยากกลับมาเยี่ยมเยือนชุมชนอีก

6.4 การมีส่วนร่วมของหน่วยงานภายนอกหน่วยงานภายนอกมีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งใน แง่ของการให้องค์ความรู้ ประสบการณ์ งบประมาณ การประชาสัมพันธ์ และความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนเติบโตได้อย่างมั่นคง เข้มแข็ง คนในชุมชนสามารถต่อยอด สร้างสรรค์กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และการบริการทางการท่องเที่ยวได้อย่างหลากหลายและยั่งยืน

อภิปรายผลการวิจัย (Research Discussion)

การวิจัยเรื่อง การจัดการการท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี อย่างยั่งยืน: กระบวนการและ ความสำเร็จ ชุมชนบ้านเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประเด็นสำคัญที่สามารถ นำมาอภิปรายผลได้ ดังนี้

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนบ้านเกาะเกิดคือการนำวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาปรับเป็น กิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย กระบวนการนำวิถีชีวิตมาปรับเป็นกิจกรรมส่งผลให้คนในชุมชน รู้สึกเป็นตัวเอง สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ได้ด้วยความสบายใจ ส่งผลให้ นักท่องเที่ยวประทับใจกับอัธยาศัยอันดีของคนในชุมชน จดจำกิจกรรมที่ทำได้เป็นอย่างดี และต้องการ เดินทางกลับมาเที่ยวซ้ำอีก (กัลยา สว่างคง, 2563) แนวคิดนี้สอดคล้องกับที่ Heding, knudtzen และ Bjeree (2009) ได้กล่าวว่า การสร้างความจดจำผ่านรูปแบบกิจกรรมการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน จัดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ทำให้ชุมชนสามารถเติบโตและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้กระบวนการค้นหาทุนทางสังคมเพื่อนำมาใช้สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างคน ในชุมชนและบุคคลภายนอกชุมชน ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่ส่งผลให้คนในชุมชนได้เรียนรู้จากบุคคลภายนอก และยังเชื่อมโยงให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้นด้วย (ไพรรินทร์ พฤตินอก, 2555)

ความสำเร็จของการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนเกิดจากการที่ชุมชนมีความโดดเด่นในเรื่องของวิถี ชีวิตที่น่าสนใจ กิจกรรมมีความหลากหลาย ผู้นำชุมชนมีศักยภาพ มีการกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจน มี ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมทั้งคนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี และต้องการที่จะรักษา ทรัพยากรและวิถีชีวิตดั้งเติมเอาไว้ สอดคล้องกับผลการวิจัยของ สินิทรา สุขสวัสดิ์ (2565 ที่อธิบายถึง ศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวว่าประกอบไปด้วย ความเข้มแข็งของผู้นำ ความ โดดเด่นมีเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว ความสามัคคีของคนในชุมชน และฐานคิดที่ว่าชุมชนเป็นเจ้าของ ทรัพยากรการท่องเที่ยว นอกจากนี้แล้วการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนให้สามารถดำเนินงานได้อย่าง มีความรู้ความเข้าใจ สามารถวางแผน วิเคราะห์ ประเมินและสรุปผลความสำเร็จหรือล้มเหลวของการ ดำเนินงานได้ยังนับเป็นอีกปัจจัยสำคัญของความสำเร็จอีกด้วย สอดคล้องกับผลการวิจัยของ คัชพล จั่น เพชร และพิทักษ์ ศิริวงศ์ (2560) ที่พบว่าปัจจัยสำคัญของการพัฒนาชุมชนให้ประสบความสำเร็จได้อย่าง ยั่งยืนคือการเปิดโอกาสให้คนในชุมชน และบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ทั้งนี้สิ่ง สำคัญในการพัฒนาทุนทางสังคมของชุมชนคือ ความสร้างสรรค์และความร่วมมือของคนในชุมชน ซึ่ง ประเด็นนี้ Howkins (2010) ยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่ต้องอาศัยความ ร่วมมือของคนในชุมชนผ่านการเชื่อมโยงจากฐานรากทางวัฒนธรรมเข้าสู่กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ

ข้อเสนอแนะการวิจัย (Research Suggestions)

1. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้

1.1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ เช่น พัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล สามารถนำข้อค้นพบ ไปปรับใช้กับชุมชนอื่นได้ผ่านการอบรม หรือการนำชุมชนต่างๆ มาศึกษาดูงาน

1.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สามารถนำข้อมูลและข้อค้นพบต่างๆ ไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอื่นต่อไป

2. ข้อเสนอแนะเพื่อการทำวิจัยครั้งต่อไป

2.1 ควรมีการศึกษาการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนในมุมมองของนักท่องเที่ยว เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในด้านต่างๆ ให้ตอบสนองนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

2.2 ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบของการท่องเที่ยวชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำผลการศึกษามาออกแบบรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่เหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง (References)

กรมการพัฒนาชุมชน. (2561). คู่มือการบริหารโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี. สืบค้น 20 พฤษภาคม 2564, จาก https://yala.cdd.go.th/wp- content/uploads/sites/47/2018/05.pdf.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2562). ทิศทางท่องเที่ยวไทยในปี 2562 Tourism Thailand : Keep calm and Look forward to 2019. TAT Review. 5(1), 21-25.

กัลยา สว่างคง. (2563). การจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน: ตลาดโก้งโค้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา. 12(2), 80-95.

คัชพล จั่นเพชร และ พิทักษ์ ศิริวงศ์. (2560). การบูรณาการทุนทางวัฒนธรรมสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน: กรณีศึกษา ชุมชนบ้านชากแง้ว อำเภอบาง ละมุง จังหวัดชลบุรี. วารสารการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน. 10(1), 111-121.

ปุณยวีร์ วิเศษสุนทรสกุล และคณะ. (2563). แนวทางการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชน จังหวัด นครราชสีมา. วารสารการวิจัยการบริหารการพัฒนา. 10(3), 22-33.

ไพรรินทร์ พฤตินอก. (2555). กองทุนหมู่บ้าน: ทุนทางสังคมในฐานะกระบวนการขับเคลื่อนกองทุน หมู่บ้านโนนสังข์. วารสารวิชาการ Veridian E-Journal. 5(3), 126-148.

วชิรญา ตติยนันทกุล. (2562). รูปแบบการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วม: กรณีศึกษา ชุมชนบ้านหนองโสน หมู่ที่ 8 ตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 38(5), 12-25.

สินิทรา สุขสวัสดิ์. (2565). การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงพหวัฒนธรรม ตำบลคลองน้ำใส อำเภอ อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว. วารสารการบริหารนิติบุคคลและนวัตกรรมท้องถิ่น. 8(2), 31-48

สุภางค์ จันทวาณิช. (2561). วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 24. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สันติ สิงหาพรม และ อุมาวรรณ วาทกิจ. (2562). การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย. วารสารบัณฑิตศึกษามหาจุฬาขอนแก่น. 6(2), 484-496.

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. (2561). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี หนุน "ไทยนิยม ยั่งยืน" สร้าง งาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลด์ความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง. สืบค้น 20 พฤษภาคม 2564, จาก https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/WNPOL6110090010024.

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกิด. (2561). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561-2565) เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง ครั้งที่ 1. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา: องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกิด.

Hedding,T., Knudtzen, C. F., & Bjeree, M. (2009). Brand management: Research, theory and practice. New York: Routledge.

Howkins,J. (2010). Creative Ecologies: Where Thinking is a Proper Job. (K. Vanichviroon, Trans.). Bangkok: Thailand Creative & Design Center.

World Tourism and Travel Council (WTTC). (2021). Travel & Tourism Economic Impact Reports. 2021. สืบค้น 15 เมษายน 2564, จาก https://wttc.org/Research/Economic- Impact.



arrow-prev ย้อนกลับ