7 กรกฎาคม 2565
โดย: ถกลรัตน์ ทักษิมา ปณิรี สุวรรณอมรเลิศ กูริ ชุณห์ขจร คณิน ไตรพิพิธสิริวัฒน์ และ ธีราพัทธ์ ชมชื่นจิตต์สิน
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร

ถกลรัตน์ ทักษิมา ปณิรี สุวรรณอมรเลิศ กูริ ชุณห์ขจร' คณิน ไตรพิพิธสิริวัฒน์ และ ธีราพัทธ์ ชมชื่นจิตต์สิน
Received : May 2,2022 Revised : June 17, 2022 Accepted : July 7,2022
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภค กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริโภคในเขต กรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน โดยผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ยค่าส่วน เบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่าจากจำนวน ตัวอย่าง 400 คน เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุในช่วง 35-44 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 39) เป็น เพศหญิงมากที่สุด (ร้อยละ 54) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 48) ประกอบพนักงานบริษัทเอกชน (ร้อยละ 40.5) และมีรายได้ในช่วง 10,001-30,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 52.5) อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ไม่มีอิทธิพลต่อ การตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 สำหรับปัจจัยด้านทัศนคติ และปัจจัยด้านสาเหตุที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์พบ ว่ามีอิทธิพลต่อความตั้งใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภค ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษา จะถูกนำไปประยุกต์ เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาสำหรับผู้บริโภคต่อไป
คำสำคัญ กัญชา; ผลิตภัณฑ์อาหารกัญชา; การตัดสินใจซื้อ; กรุงเทพมหานคร
บทนำ
กัญชาเป็นพืชประจำถิ่นที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตไซบีเรียตอนกลางมาจนถึงประเทศ จีน ประเทศอินเดีย และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งชาวบ้านนิยมนำมาใช้ สำหรับประกอบอาหารและนำมาเป็นยารักษาโรคในทางพันธุศาสตร์ของพืชกัญชา สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กัญชง และกัญชา โดยพืชกัญชง (Cannabis sativa) เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีการใช้ลำต้น และเส้นใยซึ่งสามารถนำมาผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงยารักษาโรค สำหรับพืชกัญชา (Cannabis indica) เป็นพืชที่สามารถนำมา ประกอบอาหารได้ และถูกใช้ทางด้านการแพทย์สำหรับการบำบัดและรักษาอาการเจ็บ ป่วยซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลายระงับอาการปวดได้ (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2562) โดยรูปแบบกัญชาที่พบมีทั้งกัญชาสด และกัญชาแห้งอัดเป็นแท่ง นอกจากนี้ ยังมีการสกัดน้ำมันกัญชา หรือ Hashish Oil (วีรยา ถาอุปชิต และ นุศราพร เกษสมบูรณ์, 2560) ซึ่งได้จากการนำกัญชามาสกัดจนได้น้ำมันที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายของมนุษย์
ทดลองในกลุ่มนักวิชาการคือการนำพืชกัญชามารักษาโรคในหลายๆ อาการ เช่น ลดความดันตากับผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหิน ลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการ หอบหืดเพราะมีคุณสมบัติที่ช่วยขยายหลอดลม ลดการปวดประจำเดือน บำบัดโรค มะเร็งจากผู้ป่วยที่ได้รับการทำเคมีบำบัดโดยลดอาการคลื่นไส้ และทำให้ผู้ป่วยสามารถ รับประทานอาหารได้ดีขึ้น อีกทั้งยังรักษาโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และช่วยบรรเทา อาการปวดไมเกรน (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2562) ซึ่งผลการทดลองเป็น ไปในทิศทางที่ดีขึ้นและไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและเพียง พอ อย่างไรก็ตามพืชกัญชาหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกาย คือ อาจทำให้ความคิดเลื่อนลอยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และยังสามารถทำให้ความจำ เสื่อมได้อีกด้วย (วีรยา ถาอุปชิต และ นุศราพร เกษสมบูรณ์, 2560)
ปัจจุบันหลายประทศได้อนุญาตให้มีการนำพืชกัญชา-กัญชงมาใช้ได้อย่าง ถูกกฎหมาย เนื่องจากพบว่ามีประโยชน์ในหลายด้านจึงทำให้เป็นที่สนใจ สำหรับประเทศทยได้อนุญาตให้นำกัญชา-กัญชงมาใช้ในเชิงธุรกิจต่างๆ ได้ เช่น ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม โดยการนำส่วนต่างๆ ของกัญชา-กัญชงได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบ มาเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม (โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร, 2564) ซึ่งเป็นที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังมีงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหรือทัศนคติการใช้กัญชา-กัญชงของ ผู้บริโภค อาทิเช่น การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ กัญชา-กัญชงของผู้บริโภค ในเขตกรุงเทพมหานคร (ชนม์ชุดา วัฒนะธนากร และบุฎกา ปัณฑุรอัมพร, 2564) ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการใช้กัญชาในการรักษาโรคของ ประชาชน ในจังหวัดพิษณุโลก (ปรีดาภรณ์ สายจันเกต พิมพ์พร โนจันทร์ นิติรัตน์ มีกาย และรัศมี สุขนรินทร์, 2563 ปัจจัยทำนายความตั้งใจการใช้กัญชาในกระบวนการรักษา ความเจ็บป่วยของนิสิตสาขาวิชาอนามัยชุมชน (ณัฐธิดา ฝีปากเพราะ กมลชนก คำยอดม่วง ชญานุช จันทร์ต้น ปวันรัตน์ สีชอล์ค ภควดี ขันทะกสิกรรม ศิริพร ตั๋นธรรม ศิริรัตน์ คงพล และประจวบ แหลมหลัก, 2563) ความรู้ และทัศนคติที่มีต่อกัญชา ทางการแพทย์ของประชาชน ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (รัชฎาภรณ์ อึ้งเจริญ พัสกร องอาจ และสุนทรี โอรัตนสถาพร, 2564) ซึ่งสามารถนำข้อมูลจากงาน วิจัยเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการนำกัญชามาใช้กับผู้บริโภคให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังพบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสม ของกัญชาออกจำหน่ายจำนวนไม่มากนัก และยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยที่นำยาเสพติด มาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในการเลือกที่จะซื้ออาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชงทำให้ต้องมีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ รวมถึงต้องมีงานวิจัยที่นำมาสนับสนุนเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาและกัญชง เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีความมั่นใจในการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม ของกัญชาและกัญชง ดังนั้นผู้วิจัยมีความสนใจศึกษาปัจจัยและพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มี ส่วนผสมของกัญชาต่อไปสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเพื่อรองรับการขยายตัวของ ตลาดที่กำลังเติบโต
วัตถุประสงค์
1) เพื่อศึกษาปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ปัจจัยด้านทัศนคติ และ ปัจจัยด้าน สาเหตุของการเลือกตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภค ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
2) เพื่อศึกษาความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์อาหาร หรือเมนูอาหาร เสริมกัญชาเพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา
แนวคิดทฤษฎีและทบทวนวรรณกรรม
1) แนวความคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวกับปัจจัยด้านประชากรศาสตร์
ประชากรศาสตร์ (Demography) โดยมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ Deme = people หมายถึง คน ประชาชนหรือประชากร และ Graph = writing up, description หมายถึง การอธิบายเมื่อมารวมกันคือ การศึกษาปัจจัยด้าน ประชากรศาสตร์เป็นลักษณะของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ตัวบุคคล เช่น เพศ อายุ การ ศึกษา อาชีพ รายได้ เป็นต้น (ฉลองศรี พิมลสมพงศ์, 2548) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นิยมนำมา ใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งส่วนการตลาด ซึ่งสอดคล้องกับ สุภชญ ศรีกัญชัย (2564) ที่กล่าวว่าตัวแปรที่สำคัญๆ ที่ถือเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่งส่วนตลาด เช่น ลักษณะ ประชากรศาสตร์ของผู้ซื้อ โดยเป็นการแบ่งกลุ่มที่เห็นความชัดเจนทางด้านพฤติกรรม ต่างๆ ของผู้บริโภค เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภค จะมีความเกี่ยวข้องกับตัวแปร ทางประชากรศาสตร์สูง และลักษณะทางประชากรศาสตร์เป็นลักษณะที่สำคัญและสถิติ ที่วัดได้ของประชากรช่วยในการกำหนดเป้าหมาย ในขณะที่ลักษณะด้านจิตวิทยาและ ด้านสังคมวัฒนธรรมช่วยอธิบายถึงความคิดและความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมาย นอกจาก นี้การศึกษาด้านลักษณะประชากรนี้จะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของแต่ละบุคคลที่ มีลักษณะพฤติกรรมแตกต่างกัน (วชิรวัชร งามละม่อม, 2558) เพื่อนำมาใช้การกำหนด กลยุทธ์และนโยบายทางธุรกิจให้สอดคล้องกับลักษณะทางด้านประชากรศาสตร์ คนที่ มีลักษณะประชากรศาสตร์ต่างกันจะมีลักษณะทางจิตวิทยาต่างกันด้วย
2) แนวความคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวกับปัจจัยด้านทัศนคติ
ทัศนคติ คือ การวางแนวความคิด ความรู้สึกให้ตอบสนองในเชิงบวกหรือเชิงลบ ต่อคนหรือต่อสิ่งของ ในสภาวะแวดล้อมของบุคคลนั้นๆ และทัศนคตินั้นสามารถที่จะรู้หรือถูกตีความได้จากสิ่งที่คนพูดออกมาอย่างไม่เป็นทางการ หรือจากการสำรวจที่เป็น ทางการ หรือจากพฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้น โดยสามารถสรุปแนวความคิดของปัจจัย ด้านทัศนคติได้ว่าเป็นความรู้สึก ความคิดเห็น ลักษณะท่าทาง ความเชื่อของบุคคลต่อ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งๆ รวมทั้งการแสดงออกที่ บอกถึงสภาพจิตใจที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายสิ่งที่มีผลให้เกิดการแสดงออกเกิดเป็น พฤติกรรมทัศนคติเป็นตัวการสำคัญอันหนึ่งที่เป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออกมาในลักษณะของความรู้สึก โดยที่ทัศนคติ สามารถเรียนรู้หรือ จัดการได้ โดยใช้ประสบการณ์และทัศนคตินั้นสามารถที่จะรับรู้ได้จากสิ่งที่คนพูดออกมา โดยสามารถแสดงออกในทางสนับสนุนเห็นดีเห็นชอบด้วยหรือต่อต้านก็ได้ (ลัดดาวัลย์ โชคถาวร, 2560; Kupuge, 20 16; ทัศยาพร เวียงวุธ, 2564)
3) แนวความคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวกับปัจจัยด้านการตัดสินใจ
กระบวนการตัดสินใจ (Process of decision making) หมายถึงการกำหนด ขั้นตอนของการตัดสินใจ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งขั้นของ กระบวนการดังกล่าวเป็นการตัดสินใจโดยใช้หลักเหตุผลและมีกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นการ ตัดสินใจที่มีการใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยในการหาข้อสรุปเพื่อ การตัดสินใจ โดยมีการกล่าวไว้ว่า การตัดสินใจ (Decision Making) หมายถึง กระบวนการในการเลือกที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งผู้บริโภค มักจะต้องตัดสินใจในทางเลือกต่างๆ ของสินค้าและ บริการอยู่เสมอ โดยที่เขาจะเลือก สินค้าหรือบริการตามข้อมูลและข้อจำกัดของสถานการณ์ การตัดสินใจจึงเป็นกระบวนการ ที่สำคัญและอยู่ภายในจิตใจของผู้บริโภค (ฉัตยาพร เสมอใจ, 2550) และ การตัดสินใจ คือ กระบวนการคัดเลือกแนวทางปฏิบัติจากทางเลือกต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ที่ต้องการ ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามผู้วิจัยสามารถ สรุปได้ว่าปัจจัยทางด้านการตัดสินใจนั่นเป็นกระบวนการในการเลือกที่จะกระทำสิ่งใด สิ่งหนึ่งจากทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่ โดยที่ผู้บริโภคนั่นจะเลือกสินค้าหรือบริการตามข้อมูล และข้อจำกัดของสถานการณ์ ดังนั้นการศึกษาทางด้านปัจจัยต่อการตัดสินใจถือว่าเป็น หัวใจสำคัญ เพื่อดำเนินการไปสู่วัตถุประสงค์ของการวิจัย นอกจากนี้ สุทามาศ จันทรถาวร (2556) ยังกล่าวว่าสามารถใช้เครื่องมือเพื่อนำมาช่วยในการพิจารณาถึง เหตุผลส่วนตัว อารมณ์ ความรักใคร่ การชอบพอ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจได้
วิธีการดำเนินวิจัย
การศึกษาครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) และ คำนวณขนาดของตัวอย่างจากสูตร Taro Yamane (บุณธรรม กิจประดาบรสุทธิ์, 2547) โดยมีเกณฑ์คัดเข้า คือ เป็นประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร และยินยอมเข้าร่วม โครงการวิจัยด้วยความสมัครใจ
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามที่เป็นเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวม ข้อมูล ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1 แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรประกอบ ด้วย เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ และความถี่ในการรับประทานอาหารเพื่อ สุขภาพ รวมถึงสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเมนูอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลต่อความ สนใจในการเสริมกัญชาของผู้บริโภค (Check-all-that-apply) โดยเลือกคำตอบจาก ตัวเลือก (Check List) 2 แบบสอบถามความคิดเห็นปัจจัยด้านทัศนคติและปัจจัยด้าน สาเหตุของการเลือกบริโภคที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชา เป็นคำถามปลายปิด (Closed-end Question) โดยคำถามมีลักษณะเป็น แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) โดยใช้มาตรวัดแบบ ไลเคอร์ทสเกล (Likert Scale ) เป็นการกำหนดค่าน้ำหนักของการประเมินเป็น 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด และ 3) ข้อเสนอแนะและความคิด เห็นเพิ่มเติมแบบสอบถามปลายเปิด
การเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีการแจกแบบสอบถามในรูปแบบออนไลน์
การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (validity) ของแบบสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน โดยการหาค่าสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับวัตถุประสงค์ หรือเนื้อหา (IOC: Item-Objective Congruence Index) ผลการทดสอบพบว่าข้อคำถามที่มีค่า เOC มากกว่า 0.50 แสดงว่าข้อคำถามทุกข้อครอบคลุมเนื้อหาที่ต้องการวัดและสามารถนำไปใช้ได้ และนำแบบสอบถามที่ได้ไปทดลองใช้ (Try Out) เพื่อหาคุณภาพของเครื่องมือ โดยการหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถาม โดยการนำแบบสอบถาม ไปทดสอบกับประชากรกลุ่มที่มีความใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างจริงจำนวน 40 คน คำนวณหาความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาของ ครอนบาร์ช (Cronbach's Alpha Coefficient) ได้ค่าความเชื่อมั่นอยู่ที่ 0.802 ซึ่งมีค่ามากกว่า 0.7 แสดงว่ามีความ เหมาะสมดี-ดีมาก (DeVellis, 2017)
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ประกอบด้วย ความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน (Standard Deviation) และ วิเคราะห์ข้อมูโดยการหาความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยด้านต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบพหุคูณ (Multiple Correlation Analysis) และการวิเคราะห์ความถดถอยแบบพหุคูณ (Multiple Regression Analysis)
การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาชนิดของผลิตภัณฑ์อาหาร หรือเมนูอาหารที่ผู้บริโภค ให้ความสนใจต่อการเสริมกัญชาโดยการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ CATA (check-all-that- apply)
ผลการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของ ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร โดยนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล ตามลำดับดังนี้
1. ข้อมูลลักษณะทางประชากรศาสตร์ของผู้ตอบแบบสอบถาม

ตารางที่ 1ข้อมูลทางด้านสังคม และประชากรศาสตร์ของกลุ่มตัวอย่าง (n = 400)
จากการทดสอบปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้ผู้ทดสอบจำนวน 400 คน ผู้ทดสอบได้ตอบแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ ดังแสดงใน ตารางที่ 1 และจากการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง มากกว่าเพศชาย โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นกลุ่มที่มีอายุอยู่ ในระหว่าง 35-44 ปี มีจำนวนสูงที่สุด รองลงมาคือช่วงอายุ 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 39 และ 35.75 ตามลำดับ นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 48 และเป็นผู้ที่ ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชนมากถึงร้อยละ 40.5 และเมื่อสำรวจรายได้ เฉลี่ยต่อเดือน พบว่ามีรายได้ในช่วง 10,000 - 30,000 บาท ต่อเดือน มากที่สุดถึงร้อยละ 52.5
นอกจากนี้ข้อมูลพฤติกรรมการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของกลุ่ม ผู้ทดสอบพบว่าส่วนใหญ่รับประทานผลิตภัณฑ์ 4-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.32 ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพส่วนใหญ่เป็น คุณค่าทางโภชนาการ ร้อยละ 35 รองลงมาคือช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยรวม ร้อยละ 28.25 และเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ ร้อยละ 20
2. ปัจจัยด้านทัศนคติที่มีผลต่อการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร

ตารางที่ 2 ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของปัจจัยด้านทัศนคติที่มีผลต่อการ ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภค (n = 400) ในเขต กรุงเทพมหานคร
การวิเคราะห์ปัจจัยด้านทัศนคติที่มีผลต่อการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสม ของกัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ดังแสดงในตารางที่ 2 ผลการศึกษาพบ ว่ากลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านทัศนคติทุกประเด็น ยกเว้นปัจจัยด้านคนที่ เลือกซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาคือคนที่ใส่ใจและดูแลสุขภาพ และด้านความรู้สึก ว่าอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหาซื้อได้ง่าย ที่มีระดับป่านกลาง (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.22 และ 2.98 ตามลำดับ) โดยปัจจัยระดับทัศนฺคติที่มีผลต่อการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มี ส่วนผสมของกัญชาที่อยู่ในระดับมาก พบว่าด้านการเลือกซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาเพราะมีความแปลกใหม่ และน่าลองได้รับระดับความสำคัญมากที่สุด(ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.86) และตามมาด้วยคนที่บริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาว่าเป็นคน ทันสมัย (3.82)ถัดมาเป็นด้านความคิดว่าการเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาเหมือนกันกับอาหารปกติ (3.70) และด้านความรู้สึกว่าอาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชามีคุณค่าทางโภชนาการ (3.63 มีรสชาติถูกปาก (3.55) มีความปลอดภัย (3.50) ไม่ใช่สารเสพติด (3.44) และลำดับสุดท้ายคือ อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชามีราคาที่ ไม่แพงจนเกินไปและสามารถรับประทนได้บ่อย (3.42)
3. ปัจจัยด้านสาเหตุของการเลือกตัดสินใจบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร

ตารางที่ 3 ค่าเฉลี่ยและส่วนเยี่ยงเบนมาตรฐานของปัจจัยด้านสาเหตุของการเลือก ตัดสินใจบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภค (n = 400) ในเขตกรุงเทพมหานคร
การวิเคราะห์ปัจจัยด้านสาเหตุของการเลือกตัดสินใจบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานครดังแสดงในตารางที่ 3 จาก ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญกับสาเหตุของการเลือกตัดสินใจบริโภค อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาที่อยู่ในระดับมาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วยสาเหตุที่จะเลือก ซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเพราะเป็นอาหารที่มีประโยชน์ (3.84) และจะตัดสินใจ ซื้อทันทีหากมีอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาจำหน่ายอยู่ภายในร้านค้า (3.64) รวมไปถึงมี ความคิดว่าอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชามีรสชาติที่อร่อย สะอาด และถูกหลัก อนามัย (3.43) ในขณะที่บางปัจจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญในระดับปานกลาง ประกอบด้วยปัจจัยด้านมีการแสวงหาข้อมูลอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา (3.30)คิดว่าการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาประจำจะส่งผลดีต่อสุขภาพแน่นอน (3.28) ความต้องการที่จะบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเป็นประจำ (3.24) ต้องการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาต่อไปในอนาคตเพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง (3.12) และต้องการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเพราะช่วยเพิ่มความอยาก อาหารและนอนหลับ (2.82)
4. ผลการทดสอบสมมติฐานทางสถิติ

ตารางที่ 4 แสดงการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณของปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร
การทดสอบสมมติฐานเพื่อทดสอบตัวแปรที่ส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ระดับ ความเชื่อมั่น 95% หรือมีระดับนัยสำคัญเท่ากับ 0.05 โดยใช้การวิเคราะห์เชิงถดถอย พหุคูณ (Muttiple Regression Analysis) จากตารางที่ 4 แสดงผลการวิเคราะห์ ความแตกต่างของลักษณะประชากรแตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภคใน กรุงเทพมหานคร พบว่าปัจจัยส่วนบุคคลหรือข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ทั้งด้านเพศ อายุ อาชีพ รายได้ และระดับการศึกษาไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ในขณะที่ปัจจัยด้านทัศนคติ (0.001) และปัจจัยด้านสาเหตุของการเลือกตัดสินใจบริโภค (0.001) มีอิทธิพลต่อการ ชื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร
5. ข้อมูลการสำรวจความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อเมนูอาหารเสริมกัญชา (Check-all-that-apply)
การวิเคราะห์ข้อมูลของเมนูอาหารเสริมกัญชามีผลต่อความสนใจในการเสริม กัญชาของผู้บริโภค เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์อาหารใดบ้างที่ ผู้บริโภคให้ความสนใจเพื่อใช้เป็นแนวทางหรือประกอบการตัดสินใจในอนาคตว่าเมนู ชนิดไหนที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากหรือน้อยแตกต่างกัน โดยการวิเคราะห์ข้อมูล แบบ Check-all that-ap ply เป็นวิธีที่ถามความคิดเห็นของผู้ทดสอบที่เลือกผลิตภัณฑ์ จากความชอบ อารมณ์ ความคุ้นเคยของผู้ทดสอบและแนวความคิดของผลิตภัณฑ์
จากการสำรวจเมนูอาหารที่มีผลต่อความสนใจในการเสริมกัญชาของผู้บริโภค ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 400 คน ซึ่งจากการสอบถามผู้บริโภคแสดง ดังภาพที่ 1 พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่สนใจเมนูกระเพรา (263 จาก 400 คน) รองลงมา คือก๋วยเตี๋ยว ยำต่างๆ และต้มยำ (241, 234, 215 จาก 400 คน ตามลำดับ) นอกจากนี้ ก็ยังมีเมนูอื่นๆ ประกอบด้วยน้ำพริก อาหารทอด น้ำยาขนมจีน สปาเก็ตตี้ ราดหน้า และสุกี้ (175, 167, 95, 80, 72 และ 63 จาก 400 คน ตามลำดับ) สำหรับเมนูที่ผู้บริโภค สนใจให้มีการเสริมกัญชาน้อยที่สุดคือ เมนูข้าวผัด (42 จาก 400 คน) และเมนูผัดซีอิ้ว (49 จาก 400 คน)

รูปภาพที่ 1 Check -all that-apply ของเมนูอาหารที่มีผลต่อความสนใจใน การเสริมกัญชาของผู้บริโภค
สรุป และอภิปรายผลการวิจัย
งานวิจัยเรื่องปัจจัยและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาปัจจัย ต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ และพฤติกรรมของผู้บริโภค เนื่องจากอาหารที่มี ส่วนผสมของกัญชาเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย มีความน่าสนใจ และกำลังเป็นที่นิยมของ ผู้บริโภค รวม ไปถึงการศึกษาแนวโน้ม และทิศทางของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชา
ปัจจัยส่วนบุคคลที่แตกต่างกันประกอบด้วย เพศ อายุ อาชีพ ระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่พบว่า เป็นเพศหญิง มีอายุ ระหว่าง 35-44 ปี ส่วนใหญ่มีอาชีพทำงานบริษัทเอกชน ระดับการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับ 10,000- 30,000 บาท ไม่มี อิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยสอดคล้องกับ งานวิจัยของ เปรมกมล หงส์ยนต์ (2562) ที่ได้ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ชื้อสินค้าผ่านทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์ (ลาซาด้า) ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลใน กรุงเทพมหานคร โดยพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ซื้อสินค้าผ่าน ทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และงานวิจัยของ ชนม์ชุดา วัฒนะธนากร และบุฏกา ปัณฑุรอัมพร (2564) ที่ได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ ซื้อเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชงของผู้บริโภค ในเขตกรุงเทพมหานคร จาก การศึกษาพบว่า ผู้บริโภคที่มีอายุ อาชีพต่างกัน ทำให้การตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มที่มี ส่วนผสมของกัญชา-กัญชงต่างกันในขณะที่ผู้บริโภคที่มีเพศ ระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ย ต่างกันทำให้การตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชงไม่แตกต่างกันทาง สถิติ นอกจากนี้ วชิรวัชร งามละม่อน (2558) กล่าวว่าลักษณะด้านประชากรศาสตร์ ถือเป็นความหลากหลายและแตกต่างเกี่ยวกับบุคคลเช่น เพศ อายุ สถานภาพ ลักษณะ โครงสร้างของร่างกาย ความอาวุโสในการทำงาน เป็นต้น โดยจะแสดงถึงความเป็นมา ของแต่ละบุคคลจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งความแตกต่างและหลากหลายของบุคคลนี้ สามารถบ่งชี้ลักษณะพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างกันการตัดสินใจที่แตกต่างกัน ที่มีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางด้านประชากรศาสตร์หรือความเป็นมาของบุคคล นั่นเอง
ปัจจัยด้านทัศนคติที่มีอิทธิพลต่อการเลือกตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสม ของกัญชา จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา (0.001) ของผู้บริโภคในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวคือ ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาว่า จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความแปลกใหม่ ทันสมัย ปลอดภัย รสชาติดี ราคาเหมาะสม เหมือนอาหารปกติ และไม่ใส่สารเสพติด เป็นต้น มีผลทำให้ผู้ตัดสินใจชื้อสินค้าได้มากกว่า เนื่องจากปัจจุบันการนำกัญชามาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร ถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภค เพราะกัญชาพึ่งได้รับอนุญาติให้นำมาใช้กับอาหาร ได้ไม่นานนัก โดยสอดคล้องกับงานวิจัยของ ชนม์ชุดา วัฒนะธนากร และบุฎกา ปัณฑุรอัมพร (2564) ที่ได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม ของกัญชา-กัญชงของผู้บริโภค ในเขตกรุงเทพมหานคร จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้าน ทัศนคติของผู้บริโภค และด้านอารมณ์/ความรู้สึก (ความมั่นใจ) มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชงของผู้บริโภค และงานวิจัยของ ศิรินุช เศรษฐพานิช (2564) ที่ได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความตั้งใจซื้ออาหารทางเลือกประเภท โปรตีนจากพืชในรูปแบบอาหารแห้ง ขนมขบเคี้ยวสำหรับผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร และแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติที่ดี ต่อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์ แข็งแรงยิ่งขึ้น โดยมีแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุมีความต้องการที่จะทดลองสินค้า รวมไปถึง ความน่าเชื่อถือของสินค้าที่มีการรับรองมาตรฐาน หรือบอกต่อจากผู้ที่เคยใช้จริง ก็จะ ทำให้ผู้สูงอายุ ตัดสินใจซื้อสินค้าได้มากกว่า เนื่องจากปัจจุบันการผลิตสินค้าเกี่ยวกับ สุขภาพนั้นมีเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภค จึงมีการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า ที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือเพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จนนำไปสู่ กระบวนการตัดสินใจซื้อในที่สุด
ปัจจัยด้านสาเหตุของการเลือกตัดสินใจซื้อ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านสาเหตุ ของการเลือกตัดสินใจซื้อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชา (0.001) ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ ผู้บริโภคมีเหตุผลในระดับ สนใจมากที่จะเลือกซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเนื่องจาก เป็นอาหารที่มี ประโยชน์ มีส่วนช่วยเพิ่มความอยากอาหารและนอนหลับ มีรสชาติอร่อย สะอาด และ ถูกหลักอนามัย โดยสอดคล้องกับงานวิจัยของ Ruangkalapawongse, A. and Ruangkalapawongse, S. (2015) ทำการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสิน ใจเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร โดยพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพคือ ผลิตภัณฑ์ต้องมีความสะอาด ปลอดภัยจากสารเคมี และไม่มีสารปนเปื้อน รวมไปถึง คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคได้รับจะทำให้มีการตัดสินใจ ซื้อได้ง่ายขึ้น
จากข้อมูล Check-all that apply เรื่องความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อเมนูอาหาร เสริมกัญชาในงานวิจัยนี้สามารถบ่งบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหาร หรือเมนูอาหารแต่ละ ชนิดมีความน่าสนใจในการเสริมกัญชาลงในผลิตภัณฑ์แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสนใจ ของผู้บริโภค ซึ่ง Check-all-that-apply เป็นข้อมูลสำคัญเบื้องต้นที่ทำให้ทราบถึง ความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ดังนั้นสามารถ นำข้อมูลชุดนี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกในการต่อยอดพัฒนางานวิจัย หรือเป็น แนวทางในการทำธุรกิจต่อไปสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเพื่อรองรับการขยายตัว ของตลาดที่กำลังเติบโต นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันมีการทดสอบทางประสาทสัมผัส ด้วยวิธี Check-all-that-apply มีการนำมาประยุกต์ใช้กับอาหาร ได้แก่ อาหารว่าง ไอศกรีมวนิลา นมช็อคโกเลต และน้ำส้ม ซึ่งมีข้อดีคือจะได้แนวความคิดของผู้ทดสอบ และคุณลักษณะง่ายๆ ไม่ซับซ้อนในการอธิบายผลิตภัณฑ์ ข้อเสียคือ ต้องใช้ผู้ทดสอบ จำนวนมาก (Valentin et al., 2012)
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยครั้งนี้ไปใช้ ผลการวิจัยเรื่องนี้สามารถนำไปต่อยอดการศึกษาค้นคว้าต่างๆ ได้โดยนำผลการ ศึกษาไปใช้ได้ดังนี้
1) ปัจจัยด้านทัศนคติมีอิทธิพลต่อการเลือกตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสม ของกัญชา โดยพบว่า ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสม ของกัญชาว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีความแปลกใหม่ ทันสมัย ปลอดภัย รสชาติดี ราคาเหมาะสม เหมือนอาหารปกติ และไม่ใส่สารเสพติด เป็นต้น มี ผลทำให้ผู้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้มากกว่า เนื่องจากปัจจุบันการนำกัญชามาเป็นส่วนผสม ในผลิตภัณฑ์อาหารถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้บริโภค ดังนั้นสามารถนำข้อมูลที่มี ลักษณะข้างต้นมาเป็นใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ที่มีส่วนผสม ของกัญชา และนำไปปรับใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อนำประโยชน์ไป ใช้ให้สูงสุดกับธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องได้
2) ปัจจัยด้านสาเหตุของการเลือกตัดสินใจซื้อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร โดย พบว่าผู้บริโภคมีเหตุผลในระดับความสนใจมากที่จะเลือกซื้ออาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชา เนื่องจากเป็นอาหารที่มีประโยชน์สามารถส่วนช่วยเพิ่มความอยากอาหาร และ มีผลต่อการทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น รวมถึงมีรสชาติอร่อย สะอาด และถูกหลักอนามัย ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้ครั้งนี้ไปพิจารณา ปรับใช้ หรือใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ต่อไป เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติที่ดี และที่สำคัญคือได้มาตรฐาน และมี ความปลอดภัยตามความต้องการของผู้บริโภค
3) ได้ข้อมูลแนวโน้มความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อเมนูอาหารเสริมกัญชา ซึ่ง สามารถนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ กัญชาต่อไปสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่ดำเนินการเกี่ยวข้อมกับอาหารที่มีส่วนผสม ของกัญชาได้ หรือธุรกิจอื่นๆ ที่มีความใกล้เคียง เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่ กำลังเติบโต และเทรนด์ความสนใจการบริโภคกัญชาในปัจจุบัน
ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
1) ควรทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างอื่นๆ ที่เป็นจังหวัด หรือศูนย์กลางในภาคต่างๆ เพื่อศึกษาลักษณะความคล้ายคลึงหรือความแตกต่างทางความคิด ค่านิยม กระแสสังคม ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาเพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร
2) ควรศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ปัจจัยด้านส่วนประสมทางการตลาด และปัจจัยด้าน รูปแบบการดำเนินชีวิต เป็นต้น เพื่อผู้ประกอบการจะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และพัฒนา กระบวนการขายกลยุทธ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
กิตติกรรมประกาศ
ผู้วิจัยขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่ได้ส่งเสริม และสนับสนุน งบประมาณสำหรับการทำวิจัยประเภท Investigator-Initiated Project (IIP)
เอกสารอ้างอิง
ฉลองศรี พิมลสมพงศ์. (2548). การวางแผนและการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยว. คณะ มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.
ฉัตยาพร เสมอใจ. (2550). พฤติกรรมผู้บริโภค. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด.
ชนม์ชุดา วัฒนะธนากร และ บุฎกา ปัณฑุรอัมพร. (2564). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา-กัญชงของผู้บริโภค ในเขตกรุงเทพมหานคร.คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กรุงเทพฯ.
ณัฐธิดา ฝีปากเพราะ กมลชนก คำยอดม่วง ชญานุช จันทร์ต้น ปวันรัตน์ สีชอล์ค ภควดี ขันทะกสิกรรม ศิริพร ตั๋นธรรม ศิริรัตน์ คงพล และ ประจวบ แหลมหลัก. (2563). ปัจจัยทำนายความตั้งใจการใช้กัญชาในกระบวนการรักษาความเจ็บป่วย ของนิสิตสาขาวิชาอนามัยชุมชน. วารสารการพยาบาล การสาธารณสุขและ การศึกษา, 21(1), 91-104.
ทัศยาพร เวียงวุธ และ นันทวัน เหลี่ยมปรีชา. (2564). ทัศนคติและพฤติกรรม ของผู้บริโภคที่มีต่อส่วนประสมทางการตลาดในการซื้อข้าว กข 43 บรรจุถุง ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก. โครงการนำเสนอผลงานวิชาการ ระดับชาติ ประจำปี พ.ศ.2564 วันที่ 1 เมษายน 2564 ณ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสารมหาวิทยาลัยนเรศวร.
บุณธรรม กิจประดาบรสุทธิ์. (2547). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ : บริษัทแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิสจำกัด (มหาชน).
ปรีดาภรณ์ สายจันเกตุ พิมพ์พร โนจันทร์ นิติรัตน์ มีกาย และ รัศมี สุขนรินทร. (2563). ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับการใช้กัญชาในการรักษาโรคของประชาชน ใน จังหวัดพิษณุโลก. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, 18(3), 596-603.
เปรมกมล หงส์ยนต์. (2562). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านทาง แอพพลิเคชั่นออนไลน์ (ลาซาด้า) ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลในกรุงเทพมหานคร. คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม, กรุงเทพฯ.
รัชฎาภรณ์ อึ้งเจริญ พัสกร องอาจ และ สุนทรี โอรัตนสถาพร. (2564). ความรู้ และ ทัศนคติที่มีต่อกัญชาทางการแพทย์ของประชาชน ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร. วารสารกฎหมายและนโยบายสาธารณสุข, 7 (1), 69-86.
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร. (2564). Cannabis cook book. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร.
ลัดดาวัลย์ โชคถาวร และขวัญกมล ดอนขาว. (2560). อิทธิพลของปัจจัยส่วนประสม การตลาดและปัจจัยทัศนคติที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออาหารคลีนของ ผู้บริโภคในจังหวัดนครราชสีมา. วารสารวิจัยมหาวิทยาลัยของแก่น สาขา มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 15(2), 79-91.
วชิรวัชร งามละม่อม. (2558). การบริหารภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management: NPM). กรุงเทพฯ : สถาบัน TDRM.
วีรยา ถาอุปชิต และ นุศราพร เกษสมบูรณ์. (2560). การใช้กัญชาทางการแพทย์. วารสาร เภสัชศาสตร์อีสาน, 13(2560), 228-240.
ศิรินุช เศรษฐพานิช และสุพิชา บูรณะวิทยาภรณ์. (2564). ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตั้งใจ ซื้ออาหารทางเลือกประเภทโปรตีนจากพืชในรูปแบบอาหารแห้ง -ขนม ขบเคี้ยวสำหรับผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร และแนวทางในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์. วารสารวิทยาลัยดุสิตธานี, 15(2), 412-428.
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2562). คู่มือแนวทางการพัฒนาระบบบริการ สุขภาพ (Service Plan) สาขาการใช้กัญชาทางการแพทย์. กรุงเทพฯ : กองบริหารการสาธารณสุข.
สุทามาศ จันทรถาวร. (2556). ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ เลือกซื้อสินค้าบน Facebook ของประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร. คณะ บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต, ปทุมธานี.
สุภชญ ศรีกัญชัย และ ลัดดา ปินตา. (2564). กลยุทธ์การตลาดองค์รวมที่มีอิทธิพลต่อ ผลการดำเนินงานของวิสาหกิจเริ่มต้น (ธุรกิจสตาร์ทอัพ) ในจังหวัดเชียงใหม่. วารสารบริหาธุรกิจและศิลปะศาสตร์ ราชมงคลล้านนา, 9(2), 1-16.
DeVellis, R. F. (2017). Scale development: Theory and applications. Thousand Oaks, CA: Sage.
Kapuge, K. D. L.A. (2016). Determinants of organic food buying behavior: special reference to organic food purchase intention of Sri Lankan customers. Procedia Food Science, 6(2016), 303-308.
Ruangkalapawongse, A. & Ruangkalapawongse S.(2015). Factors related to decision making to buy functional food products for senior cetizens in the Bangkok metropolis. SDU Research Journal, 11(2), 153-173.
Valentin, D., Chollet, S., Lelievre, M. & Abdi, H. (2012). Quick and dirty but still pretty good: a review of new descriptive methods in food science. International Journal of Food Science and Technology. 47(8), 1563-1578.